“บพท. กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน เพิ่มสำนึกรักท้องถิ่น ชูฐานทุนวัฒนธรรม ด้วยมหกรรม “ฟื้นใจเมือง” ร่วมกับภาคีเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาและภาคประชาสังคม”

บพท. ร่วมกับภาคีเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาและภาคประชาสังคม ใช้ทุนวัฒนธรรมยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและสำนึกท้องถิ่น ด้วยการจัดงาน “มหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมือง” โดยมี รมว.อว.“เอนก” ให้การสนับสนุน

     เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาะดับพื้นที่ (บพท. ) ร่วมมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และภาคีเครือข่ายทั้งมหาวิทยาลัยและประชาสังคมในพื้นที่ภาคเหนือจัดงาน “มหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมือง : จากงานวิจัยสู่การพัฒนาพื้นที่ (ภาคเหนือ)” โดยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว. กระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีเปิดงาน และมี ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วย บพท. นายสมหวัง บุญระยอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ศาตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ นายกสภา มฟล. รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี มฟล. ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ประธานอนุกรรมการที่ปรึกษาการขับเคลื่อนวิทยสถาน “ธัชภูมิ” เพื่อการพัฒนาพื้นที่ เข้าร่วมงาน

     “งานมหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมือง” ถูกจัดขึ้นโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ที่เล็งเห็นโอกาสในการใช้ฐานทุนวัฒนธรรมท้องถิ่นในการพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่คนในพื้นที่อันจะนำไปสู่การออกแบบกระบวนการมีส่วนร่วมให้เกิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมและต่อยอดด้วยการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทางวัฒนธรรมหรือวิสาหกิจเชิงวัฒนธรรมสร้างงานสร้างรายได้ด้วยทุนทางศิลปะและวัฒนธรรม 

     ในครั้งนี้เป็นการเป็นการเปิดงานในพื้นที่ภาคเหนือที่ภายในงานมีการจัดแสดงผลงานวิจัย ภายใต้กรอบการวิจัย “มหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่” ของสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ ในเขตภาคเหนือ ที่ได้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพท. รวมทั้งการแสดงศิลปะวัฒนธรรมในภาคเหนือที่น่าสนใจ เช่น ฟ้อนกลองอืด/ กลองปูจา ช่อแฮ ศรีเมือง การขับทุ้มหลวงพระบาง การแสดงร้อยเรื่องราวชนเผ่าม้ง ช้านางเหลียว, เสือไหหลำ ฟ้อนนกฟ้อนโต แฟชั่นฟื้นใจ๋เมือง:ไม่เป็นอื่นด้วยฟื้นตัวตน ณ ลานมหกรรมฟื้นใจเมือง เพื่อเป็นการเผยแพร่รูปธรรมความสำเร็จและภาพรวมผลผลิตจากการจัดการทุนทางวัฒนธรรมของเครือข่ายมหาวิทยาลัยในพื้นที่ภาคเหนือที่ได้ก่อให้เกิดผลผลิต อันได้แก่ นวัตกรวัฒนธรรมจำนวน 120 ราย ผู้ประกอบการวัฒนธรรมจำนวน 56 ราย และผลิตภัณฑ์และบริการวัฒนธรรม 89 รายการสู่สาธารณะ และนำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจและสำนึกท้องถิ่น ช่วยยกระดับขีดความสามารถและสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่อย่างมีพลังและถือเป็นการร่วมกันสืบสานและเผยแพร่องค์ความรู้ภูมิปัญญาของผู้คนในพื้นที่และพลิกฟื้นความเข้มแข็งของกลไกภาคีความร่วมมือในระดับพื้นที่ทั้งภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนและพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมต่อไปอย่างยั่งยืน
สถิติการเข้าชม