บพท. ผนึกกำลัง สอวช. และ สกสว. จัดประชุมเชิงวิชาการระดับนานาชาติและประชาพิจารณ์ผลการศึกษาโครงการวิจัย“การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภูมิภาคเพื่อสร้างไทยเป็นศูนย์กลางแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกับ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดการจัดประชุมเชิงวิชาการระดับนานาชาติและประชาพิจารณ์ผลการศึกษาโครงการวิจัย “การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภูมิภาคเพื่อสร้างไทยเป็นศูนย์กลางแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยกลไกเชิงพื้นที่ของระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)” ในวันที่ 26 เมษายน 2567 ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพมหานคร

การนี้ รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการหน่วย บพท. ได้ขึ้นกล่าวถึงความสำคัญของการจัดการประชุมในครั้งนี้ โดยมี ศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์ หัวหน้าโครงการวิจัย จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวชี้แจงวัตถุประสงค์ของประชุมในระดับนานาชาติ ภายใต้หัวข้อ “An International Symposium on Developing Economic Corridors in Southeast Asia” ที่มุ่งเน้นการนำเสนอแนวนโยบายและแผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจในระดับประเทศและภูมิภาค รวมถึงกระบวนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักวิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศมานำเสนอแนวทางการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั้ง Dr.Robert Casper จาก National University of Management ประเทศกัมพูชา, Mr.Jinxin Liu จาก Kunming South Asia& Southeast Asia International Logistics Research Institute (SSILR) ประเทศจีน, Mr.Phanhpakit Onphanhdala จาก National Institute for Economic Research ประเทศ สปป.ลาว, Assoc. Prof. Dr.Harlina Suzana Jaafar จาก University Teknologi Mara ประเทศมาเลเซีย, Dr.Myo Nyein Aye จาก Department of Transport Planning ประเทศเมียนมา, Assoc. Prof. Dr.Trinh Thi Thu Huong จาก Foreign Trade University ประเทศเวียดนาม และ ดร.ปุริม ศรีสวัสดิ์ ทีมวิจัย ประเทศไทย

โดยในช่วงท้าย ศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์ ได้กล่าวโดยสรุปถึงภาพรวมจากการบรรยายข้างต้น พร้อมทั้งแนวทางในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค ต่อจากนี้ ว่า “ประเทศไทยมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากการมีความได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ มีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และมีนโยบายที่สนับสนุนการพัฒนาในภูมิภาค ซึ่งมีความท้าทายที่สำคัญในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ ได้แก่ การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ให้เพียงพอและสามารถเชื่อมโยงในทุกมิติอย่างไร้รอยต่อ นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องปรับปรุงกฎระเบียบและกลไกประสานงานในระดับประเทศและระดับภูมิภาคให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกัน ลดอุปสรรคและข้อจำกัดทางการค้า รวมถึงการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ของบุคลากร ตลอดจนคำนึงถึงผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเป็นไปอย่างยั่งยืนและมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ดังนั้น การประชุมระดับนานาชาติครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เกิดขึ้น ที่เริ่มต้นด้วยความร่วมมือเชิงวิชาการจากนั้นจึงค่อยขยายไปสู่ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในอนาคตต่อไป ซึ่งอาจจะกำหนดบทบาทให้ภาคเอกชนเป็นผู้ที่ริเริ่มการขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยมีหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนและอำนวยความสะดวกร่วมกับการประยุกต์ใช้องค์ความรู้เชิงวิชาการจากภาคการศึกษาให้เกิดการขับเคลื่อน การบูรณาการ และการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรมต่อไป”

สถิติการเข้าชม