ตามที่หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้รับมอบหมายให้บริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบเป้าหมายและตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ (OKR) ตามแพลตฟอร์มที่ 4 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ โปรแกรมที่ 15 เมืองนอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ
โดยในปี 2564 หน่วย บพท. ต้องจัดทำโครงการริเริ่มสำคัญ (Flagship Project) เพื่อตอบเป้าหมายการพัฒนาประเทศ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนที่ 6 พื้นที่และเมืองอัจฉริยะ
เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 บพท. จึงได้จัดประชุมระดมสมอง เพื่อกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ (OKR) และพัฒนากรอบโจทย์วิจัยเรื่องการพัฒนาเมืองตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ มีผู้เข้าร่วมการประชุม จำนวน 30 คน จากภาคีพัฒนาสำคัญ อาทิ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) สมาคมผังเมืองไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) กรมโยธาธิการและ ผังเมือง วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น และมีผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ คุณจาดุร อภิชาตบุตร อดีตรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย กรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูป กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) และคุณองอาจ ปัญญาชาติรักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการภารกิจจัดทำแผนยุทธศาสตร์และกรอบงบประมาณ สกสว. มาเป็นผู้ดำเนินรายการ
ผลจากการประชุม
ได้เป้าหมายร่วมการพัฒนาเมือง คือ
📈📈 “สร้าง Engine of Growth” และ
📉📉 “ลดความเหลื่อมล้ำ”
ประเด็นการพัฒนาเมือง
ประกอบด้วย 4 ช่องทางขับเคลื่อน ผ่านยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่ 4 มิติ
1. ขับเคลื่อนทางตรงสู่การนำไปใช้ (Direct Channel) ผ่านยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่มิติด้านความรู้และเทคโนโลยี
2. ขับเคลื่อนผ่านแนวทางการเงิน – Financial Channel) ผ่านยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่มิติด้านการเงิน
3. ขับเคลื่อนผ่านนโยบายด้านประชากร (Migration Channel) ผ่านยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่มิติด้านการเคลื่อนย้ายคน
4. ขับเคลื่อนผ่านการลงทุนและค้าขาย (Trade Channel) ผ่านยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่มิติด้านการค้าขายและการลงทุน
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
1. ภาคนโยบายและการพัฒนา :
– สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA)
– สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)
– สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
2. หน่วยงานภาครัฐด้านการจัดการทุน
– สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) สสปน. (TCEB)
– สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.)
– หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
– สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.)
3. ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
– สมาคมผังเมืองไทย
– สมาคมอสังหาริมทรัพย์
– กรมโยธาธิการและผังเมือง
– วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น
หลังจากนี้หน่วย บพท. จะได้ทำการรวบรวมข้อมูลจากการประชุมเพื่อจัดทำแผนงานวิจัยเรื่องเมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญต่อไป โดยเชื่อมต่องานวิจัยกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อไปสนับสนุนการทำงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง