บพท ผนึกกำลังครั้งใหญ่ ร่วมกับ SCG ยกระดับเศรษฐกิจ พร้อม “สร้างงาน”จากพืชพลังงาน หวังปั้น “SARABURI Sandboxs”

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) นำโดย ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ร่วมกับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด จัดงานแถลงข่าวเปิดตัว (Kick off) “การบูรณาการความร่วมมือเพื่อยกระดับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สำหรับการสร้างงานในพื้นที่บนฐานนิเวศการลงทุนพืชพลังงาน” ระหว่าง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด และ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ณ อาคารพัฒนาและฝึกอบรม 1 บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด

ความร่วมมือในครั้งนี้มุ่งหวังที่จะยกระดับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สำหรับการสร้างงานในพื้นที่บนฐานนิเวศการลงทุนพืชพลังงาน ภายใต้โครงการต้นแบบความร่วมมือภาคอุตสาหกรรม ในการสร้างงานในพื้นที่ผ่านการพัฒนาอาชีพบนฐานพืชพลังงานสู่ BCG จังหวัดสระบุรี เพื่อเตรียมพร้อมยกระดับเมืองสระบุรีสู่การเป็นเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาด (Livable and Smart City) รวมทั้งถือเป็นการเดินหน้าพัฒนา “สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์” ที่จะมุ่งทำให้จังหวัดสระบุรีเป็นจังหวัดต้นแบบของเมืองที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero city) ซึ่งในอนาคตจะออกแบบเมืองให้แหล่งงานที่อยู่อาศัย-เส้นทางการเดินทางเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบเพื่อให้สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ และเป็นโมเดลลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนในพื้นที่ควบคู่กันไป

โดยโครงการนี้ดำเนินการด้วยการส่งเสริมและยกระดับพื้นที่ชุมชนโดยรอบโรงงานเป็นพื้นที่ต้นแบบระบบนิเวศพืชพลังงาน ส่งเสริมและสร้างกลุ่มผู้ผลิตพืชพลังงานในพื้นที่จังหวัดสระบุรีภายใต้ความร่วมมือภาคอุตสาหกรรมในการสร้างงานในพื้นที่ผ่านการพัฒนาอาชีพ และขยายผลสู่ระบบการผลิต และระบบการแปรรูปพืชพลังงานในพื้นที่ศูนย์กลาง (HUB) โรงงานในเครือปูนซิเมนต์ไทย (SCG) ทั่วประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นการส่งเสริม สนับสนุน การจัดตั้งธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) พืชพลังงานในการขับเคลื่อนตัวแบบธุรกิจ (Business Model) ทั่วประเทศไทย เกิดเป็นกลไกความร่วมมือ ทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจและเอกชน มีการสนับสนุน และการกำกับดูแลร่วมกันของเครือข่ายในพื้นที่ในการสร้างกองทุนกิจการเพื่อสังคม จนเกิดกระบวนการสร้างงานใหม่สำหรับผู้มีรายได้น้อยที่นำไปสู่การจัดตั้งธุรกิจเพื่อสังคม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานพืชพลังงาน พร้อมกับช่วยในการขับเคลื่อนและยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะถือเป็นก้าวสำคัญของการผลักดันนโยบาย BCG Model ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี สู่การเป็น “SARABURI Sandbox” ต่อไป

สถิติการเข้าชม