บพท.จับมือท้องถิ่นไทยเพิ่มความรู้เป็นเสาหลักของประเทศ

บพท. เร่งเพิ่มความรู้ สร้างความร่วมมือแก่องค์การท้องถิ่นไทย หวังเป็นเสาหลักของประเทศในอนาคต

วันที่ 7 มีนาคม 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) นำโดย รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร และรศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามรับทุนวิจัย ระหว่างมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 60 แห่ง ภายใต้หลักสูตรประกาศนียบัตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) รุ่นที่ 1 ในโครงการการยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไกความรู้และความร่วมมือระดับประเทศของมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ซึ่งมี นายอุดร ตันติสุนทร ประธานมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย และได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วย บพท. ประจำปีงบประมาณ 2565
สำหรับพิธีลงนามในการรับทุนวิจัย ระหว่างมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 60 แห่ง ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร นั้น ได้มีผู้บริหารท้องถิ่น พร้อมภาคีพัฒนาพื้นที่จากทั่วประเทศกว่า 160 คนเข้าร่วม โดยมี นายอุดร ตันติสุนทร ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวแสดงเจตนารมณ์ของมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นที่ดำเนินการหลักสูตรนี้ขึ้นมา รวมถึงได้รับเกียรติจาก นายสมชาย รังสิวัฒนศักดิ์ นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย กล่าวถึง พหุภาคีในการพัฒนาเมือง และ ศ.นพ.กระแส ชนะวงศ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกริก นายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าว ตอกย้ำให้เห็นอีกว่า “การยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยข้อมูล ความรู้ และความร่วมมือระดับประเทศ และเป็นการเรียนรู้จากการลงมือทำ ปฏิบัติการบนฐานงานวิจัย ผลิตบัณฑิต บริการวิชาการ และบริหารเครือข่าย เชื่อมโยงทั้งหลักสูตรในระบบ และการศึกษาตลอดชีวิต ทั้งหมดคือ เรื่องเดียวกัน” ในงานนี้ ยังได้รับเกียรติจาก นายจาดุร อภิชาตบุตร ที่ปรึกษาผู้อำนวยการหน่วย บพท. ร่วมให้เกียรติเป็นสักขีพยานด้วย
ด้าน รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม และรศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ยังได้กล่าวถึง ความคาดหวังที่มีต่อโครงการ ยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไกความรู้และความร่วมมือระดับประเทศ ในฐานะหน่วยงานผู้ให้ทุน และปิดท้ายด้วย คุณวีระวัฒน์ รัตนวราหะ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวในฐานะเครือข่าย ยกระดับเมืองชาญฉลาดที่น่าอยู่ ด้วยกลไกความร่วมมือ เทคโนโลยี ข้อมูลขนาดใหญ่และปัญญาประดิษฐ์ ในหัวข้อ “ร่วมอยู่ ร่วมสร้าง ร่วมเจริญ พันธกิจใหม่ของเอกชนไทย”

สำหรับ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOA) ว่าด้วย การยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไกความรู้และความร่วมมือระดับประเทศระหว่างมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 60 แห่ง นั้น ทุกเทศบาลล้วนมีโครงการวิจัยที่มีรูปธรรมของความร่วมมือที่ชัดเจนบ่งชี้ถึง พันธะทางการเมือง (Policy Commitment) อาทิเช่น การสนับสนุนงบประมาณ บุคลากร หรือ วัตถุประสงค์ ต่าง ๆ ในการดำเนินโครงการ 2) มีการวิเคราะห์บริบทปัญหาและความต้องการของพื้นที่วิจัย เป้าหมายที่ชัดเจน 3) มีรูปธรรมความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเรียนรู้ (นอกเหนือจาก digital infrastructure) และ 4) มีกลไกความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่
จากนั้นยังได้มีพิธีลงนาม บันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วย การพัฒนาและเผยแพร่แพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง ระหว่าง มูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กับ บริษัท เอไอ แอนด์โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 60 แห่ง และปิดท้ายด้วยการชี้แจงแนวทางการจัดทำรายงานการเงินโครงการวิจัย โดย หน่วย บพท.เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 60 แห่ง อันมีนักวิจัยคือ ผู้ลงมือปฎิบัติการพัฒนาเมือง นำโดยนายกเทศมนตรี ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย นักวิจัยร่วมกว่า 1,000 คน เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการและสาระสำคัญของการจัดทำรายงานการเงินตามมาตรฐานของ บพท. ให้มีความถูกต้องครบถ้วน

สถิติการเข้าชม