บพท. โชว์งานวิจัย Appropriate Technology ผ่านนิทรรศการนำเสนอปิดโครงการ ประจำปี 2566

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2567 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกับ รศ.ดร.วารุณี อริยวิริยะนันท์ หัวหน้าชุดประสานงานฯ กรอบการวิจัยชุมชนนวัตกรรม 2566 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และเครือข่ายนักวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก หน่วย บพท. จัดงานนิทรรศการนำเสนอปิดโครงการกรอบการวิจัย “การขยายผลวิจัยเทคโนโลยีที่เหมาะสม” (Appropriate Technology) ภายใต้แผนงาน “ชุมชนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” แผนงานย่อยรายประเด็น “การเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากเพื่อให้มีศักยภาพในการแข่งขัน สามารถพึ่งพาตนเองได้และกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่น” โดยได้รับเกียรติจาก ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วย บพท. เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ณ ห้อง Vibhavadee Ballroom C โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว

สำหรับกรอบการวิจัย “การขยายผลวิจัยเทคโนโลยีที่เหมาะสม” (Appropriate Technology) ภายใต้แผนงาน “ชุมชนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ประจำปี 2566 ในแนวคิด “Appropriate Technology เรียนรู้ เติบโต แบ่งปัน เทคโนโลยีเพื่อชุมชน ขยายผลสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ได้ดำเนินการภายใต้การสนับสนุบงบประมาณจากกองทุนวิจัยและนวัตกรรม (ววน.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างโอกาสให้กับชุมชน ด้วยการใช้โครงการวิจัยเป็นเครื่องมือเพื่อพัฒนานวัตกรชุมชนด้วยการขยายผลองค์ความรู้หรือเทคโนโลยีพร้อมใช้จากนักวิชาการ/นักวิจัย ทำให้เกิดการปรับปรุงและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี/ นวัตกรรมพร้อมใช้ ที่เข้ากับบริบทของชุมชน พร้อมทั้งพัฒนาทักษะของคนในชุมชน และสร้างรูปแบบการจัดการความรู้ในชุมชน (โมเดล รูปแบบ กระบวนการ กลไก) ให้สามารถพัฒนา ต่อยอด และประยุกต์ใช้ได้ในสถานการณ์จริง

ดร.กิตติกล่าวว่า “กิจกรรมนี้ถือเป็นการรายงานผลการวิจัยการปิดโครงการ ในรูปแบบนิทรรศการ เวทีพื้นที่แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ผลสำเร็จของงานวิจัย การเพิ่มขีดความสามารถของนวัตกรชุมชน ท้องถิ่นในการเรียนรู้ รับ ปรับใช้ องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สามารถนำความรู้และนวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate Technology) ไปใช้ในการจัดการปัญหา / สร้างโอกาสสำคัญในชุมชน ทั้งมิติเศรษฐกิจท้องถิ่น สิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ทำให้รับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงทั้งในสภาวะปกติและสภาวะวิกฤตให้ฟื้นตัวได้เร็วเมื่อเกิดปัญหา ตลอดจนสร้างเครือข่ายชุมชนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ให้เกิดความเข้มแข็งยิ่งขึ้น”

 โดยงานนี้ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี จากทั้งมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิ นักวิจัย นักวิชาการ นวัตกรชุมชน ตลอดจนผู้ประกอบการ นักศึกษา ที่เข้าร่วมงานกว่า 350 คน ภายในงานมีการนำเสนอรายงานผลการวิจัย กิจกรรมถอดบทเรียนการจัดการความรู้ (Knowledge Management: KM)” การจัดบูทนิทรรศการแสดงผลการดำเนินงานที่ประกอบไปด้วยผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากงานวิจัย จำนวน 38 โครงการ เพื่อแสดงให้เห็นถึงผลผลิตและผลลัพธ์ที่ได้จากการดำเนินงาน และรับฟังความเห็นข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการฯ ในช่วงชมบูธนิทรรศการ ก่อนนำไปปรับปรุงแก้ไขรายงานฉบับสมบูรณ์ ให้มีความถูกต้อง ครบถ้วน และสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการ Pitching งานวิจัย และมอบรางวัลแก่โครงการวิจัยและนวัตกร จำนวน 21 รางวัล เพื่อสร้างแรงกระตุ้น เกิดขวัญกำลังใจ และความภาคภูมิใจในการสร้างสรรค์ผลงานและพัฒนายกระดับชุมชน โดยนวัตกรชุมชนของแต่ละพื้นที่ที่เข้าร่วมงานสามารถเป็นกระบอกเสียงส่งต่อข้อมูลไปยังชุมชนในพื้นที่ของตนเองและพื้นที่ใกล้เคียง ให้เกิดการรับรู้  เกิดแรงกระตุ้นในการทำงานเพื่อพัฒนาชุมชนต่อไป

สถิติการเข้าชม