5 มหาวิทยาลัยเครือข่ายแก้จนร่วมกับ บพท. บูรณาการความรู้ ผสานพลังแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ชายแดนใต้

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2567 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) นำโดย ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ เข้าร่วมประชุมเครือข่ายมหาวิทยาลัยภาคใต้เพื่อบรูณาการความรู้และปฏิบัติการแก้ไขปัญหาความยากจนที่จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ โดยในงานนี้ยังได้รับเกียรติจาก แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ และวิจัยและนวัตกรรม (อว.) คุณฉัตรชัย อุสาหะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ดร.นันทศักดิ์ โชติชนะเดชาวงศ์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญหาการแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้านไทย คุณวรวรรณ วรรณวิล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ (DITP Malaysia) ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) รวมถึงผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากหลายภาคส่วนเข้าร่วมกว่า 150 คน  

การประชุมในนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมพลังความร่วมมือระหว่างกันในการออกแบบการบูรณาการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ภาคใต้ โดยเชื่อมโยงกับสถานการณ์เหตุภัยพิบัติต่าง ๆ พร้อมกันนี้ยังเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ และเชื่อมโยงบทเรียนการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาใน 5 สถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาพื้นที่ เพื่อนําไปสู่การขยายผลและส่งเสริมให้เกิดปฏิบัติการจริง โดยสามารถปรับเปลี่ยนและออกแบบการแก้ไขได้ตามสถานการณ์ที่เกี่ยงข้อง ให้การแก้ปัญหาความยากจนเป็นไปได้จริง มีรูปธรรมความสำเร็จ เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ และขยายเป็นการพัฒนาสังคมโดยภาพรวมต่อไป

ในการนี้ ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วย บพท. ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “การดำเนินงานการพัฒนาระดับพื้นที่” ซึ่งกล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนที่เป็นไปได้จริง จะต้องจากการบริหารจัดการที่ดําเนินงานได้เองในพื้นที่ รวมถึงมีกลไกเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา โดยมีสถาบันการศึกษาเป็นแกนในการดําเนินงาน ซึ่งแนวทางของ อว.ส่วนหน้า คือ การดําเนินงานกับ Pain Point ในพื้นที่โดยตรง การเชื่อมร้อยความร่วมมือ และการส่งต่อเพื่อช่วยเหลือ และการมีโมเดล หรือระบบปฏิบัติการที่ช่วยสร้างระบบภายใน (internalizing) ทั้งเชิงความคิด ทักษะ และความสามารถในการบริหารจัดการชีวิตให้ดียิ่งขึ้น

นอกจากการบรรยายพิเศษ ที่ประชุมยังมีการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) คลัสเตอร์ผลิตภัณฑ์เศรษฐกิจตามบริบทในพื้นที่มีการจัดกิจกรรม 2) การบูรณาการแก้ไขปัญหาความยากจนระดับท้องถิ่นและระดับอำเภอ 3) แนวทางการบริหารจัดการภัยพิบัติจังหวัดชายแดนภาคใต้ Poverty Symposium ซึ่งสามารถตอบวัตถุประสงค์ของการหารือในครั้งนี้ และ 4) การสร้างข้อคิดเห็นและสร้างแรงขับเคลื่อนในการดําเนินงาน และกระตุ้นให้เกิดการดําเนินงานแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ชายแดนใต้อย่างเป็นรูปธรรม

สถิติการเข้าชม