เมื่อวันที่ 20 ก.พ.67 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) นำโดย ดร.อโศก พลบำรุง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ และนางสาวดารารัตน์ โพธิ์รักษา รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการสร้างเศรษฐกิจฐานรากและความเข้มแข็งของชุมชน และคณะ เข้าร่วมพืชสวนก้าวหน้ายะลา ครั้งที่ 1 (Hortex Yala 2024) ภายใต้โครงการจัดการทุเรียนคุณภาพ : วิชาการเกษตรพืชทุเรียนและเทคโนโลยี ณ จุดรวบรวมทุเรียนวิสาหกิจชุมชนพัฒนาคุณภาพทุเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ ตำบลธารโต อำเภอธารโต จังหวัดยะลา โดยมี นางเปรมวดี สันหนู ผู้ช่วยเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงานฯ พร้อมมีนายทวิชาติ จุลละพราหมณ์ ผู้อำนวยการ สำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดยะลา หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในพื้นที่จังหวัดยะลาเข้าร่วมงานกว่า 800 คน
การจัดงานในครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดยะลา ศอ.บต. และภาคีเครือข่าย ที่เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาและยกระดับทุเรียนด้วยงานวิจัย ภายใต้ธีม “ยกระดับคุณภาพทุเรียน ผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพิ่มมูลค่าที่ยั่งยืน” ซึ่งหน่วย บพท. ได้สนับสนุนทุนวิจัยในการพัฒนาและยกระดับล้งทุเรียนสู่เครือข่ายธุรกิจในจังหวัดยะลาเพื่อยกระดับรายได้ พร้อมถ่ายทอดผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ สร้างแผนและเครือข่ายธุรกิจทุเรียนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สู่การนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพื้นที่ นับเป็นส่วนหนึ่งในแผนงานการยกระดับคุณภาพทุเรียนภาคใต้ เพื่อยกระดับห่วงโซ่มูลค่าทุเรียน ส่งเสริมการเชื่อมโยงเครือข่าย เพื่อการจับคู่ค้า และขยายกระจายพื้นที่การผลิตคุณภาพให้มากขึ้น และภายในงานมีการจัดสัมมนาวิชาการเกษตร พืชทุเรียน การจัดบูธเครื่องจักรกลทางการเกษตร เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการเกษตร นิทรรศการจากหน่วยงาน ออกหน่วยบริการคลินิกเกษตร กิจกรรม Business Matching บูธพันธุ์ไม้ ปุ๋ย ธาตุอาหาร และเคมีภัณฑ์ทางการเกษตร
โดย นางเปรมวดี สันหนู ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ศอ.บต. ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่ต้องการมุ่งเน้นการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยยึดหลักประชาชนเป็นศูนย์กลางการพัฒนาและสามารถให้ประชาชนพึ่งตนเองได้ โดยได้มีการสร้างองค์ความรู้ให้เกษตรกรที่ปลูกทุเรียนผ่านการพัฒนาคุณภาพผลผลิต การดูแลรักษา การป้องกันศัตรูพืช การให้ปุ๋ย และจดให้เป็นสินค้า GI สร้างเอกลักษณ์ทุเรียนเฉพาะพื้นที่ให้เป็นทุเรียนสะเด็ดน้ำ รวมถึงยังส่งเสริมช่องทางการตลาดจนทำให้ผลผลิตทุเรียนของจังหวัดยะลากลายเป็นจุดเด่นที่เป็นที่ต้องการของตลาดที่สูงขึ้นต่อไป
นายซาวาวี ปูลา ผู้บริหารการตลาดและนโยบาย วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทุเรียนหนามเขียว จ.ยะลา เปิดเผยว่า จากการจัดงานวันนี้จะทำให้เกษตรกรที่เข้าร่วมเปิดมุมมองการเปลี่ยนแปลงในการดูแลรักษาผลผลิตของทุเรียน นำองค์ความรู้ที่ได้รับจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อทำให้เกิดการกระตือรือร้นในการดูแลรักษามากขึ้นส่งผลไปสู่คุณภาพและราคาของทุเรียนที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ ดร.อโศก พลบำรุง ได้บรรยายพิเศษ “การพัฒนาและยกระดับล้งทุเรียนสู่เครือข่ายธุรกิจในจังหวัดยะลา เพื่อยกระดับรายได้” กล่าวถึงความสำคัญของการนำเอาองค์ความรู้และงานวิจัยเข้ามายกระดับและการสร้างกลไกเครือข่ายเพื่อเพิ่มศักยภาพล้งและเครือข่ายล้งทุเรียนในพื้นที่ก่อให้เกิดการสร้างรายได้จากพื้นที่ ตลอดจนความร่วมมือเกษตรกรที่เชื่อมโยงกับสวนทุเรียน วิสาหกิจชุมชน หน่วยงานรัฐ และภาคเอกชนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
จากกิจกรรมในครั้งนี้ทำให้เกษตรกรและประชาชนที่สนใจในพื้นที่สามารถเข้าถึงรูปแบบการจัดการทุเรียนอย่างมีคุณภาพ โดยใช้ผลงานวิจัยองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเพิ่มศักยภาพการผลิตทุเรียนยะลา และการเชื่อมโยงตลาดให้เกิดการสร้างรายได้จากพื้นที่การค้าทุเรียนยะลาเพิ่มขึ้น ตลอดจนความร่วมมือเกษตรกรที่เชื่อมโยงกับสวนทุเรียน วิสาหกิจชุมชน หน่วยงานรัฐ และภาคเอกชน